กระจกเทมเปอร์นิรภัย

กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass หรือ T/P ) หรือที่เรียกว่ากระจกอบ คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น

ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก ทำให้มีโอกาสเกิดอันตรายน้อยกว่ากระจกธรรมดา เหมาะสำหรับงานที่มีความเสี่ยงต่อการแตกร้าว และต้องการความปลอดภัยที่เกิดจากกระจกแตกร้าว (safety)

กระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้หักงอ (Bending Strength) เมื่อเปรียบเทียบกับกระจกธรรมดา ที่ความหนาเท่ากัน 5 มม. กระจกธรรมดาจะมีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึง และแรงที่ทำให้กระจกหักงออยู่ที่ 500- 600 กก./ซม.2 ส่วนกระจกนิรภัยเทมเปอร์จะมีค่าสูงถึง 1,500 กก./ซม.2

โดยขนาดความหนาของกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ที่นิยมผลิตในท้องตลาด คือ 4, 5, 6, 8, 10, 12, 15, 19 มิลลิเมตร

วัตถุดิบ และส่วนประกอบหลักที่นำมาใช้ผลิต​ คือ กระจกที่สามารถนำมาผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์คือกระจกแผ่นเรียบเกือบทุกชนิดไม่ว่ากระจกนั้นจะผลิตด้วยกระบวนการเพลท(Plate Process) ชีท (Sheet Process) หรือโฟลท(Float Process) แต่กระจกนั้นต้องมีส่วนประกอบของวัตถุดิบที่เหมาะสม เช่น ไม่มีส่วนประกอบของแร่เงินมากเกินไป เป็นต้น กระจกที่ผลิตจากกระบวนการดังกล่าวมี ดังนี้

  •  กระจกใส (Clear Glass)
  •  กระจกใสพิเศษ(Super Clear Glass)
  •  กระจกทิ้น(Tinted Glass)
  • กระจกลวดลาย (Pattern Glass) 

ข้อดี

  • มีความแข็งแรงกว่ากระจกโฟลท 4-5 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด และแรงบีบได้ดี
  • ทนความร้อนได้สูงถึง 290ºC โดยกระจกไม่แตก
  • ทนการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอย่างฉับพลันได้ถึง 150ºC
  • เมื่อกระจกแตก จะแตกเป็นชิ้นเล็กๆคล้ายเม็ดข้าวโพดทั่วทั้งแผ่น จะไม่แตกเป็นปากฉลามแบบเดียวกับการแตกของกระจกธรรมดา จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
  • ถ้าหากตัดกระจกบนโต๊ะตัดที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ความเที่ยงตรงสูง จะสามารถตัดได้หลากหลายรูปแบบ 

ข้อควรระวัง/ข้อเสีย

  • หลังการผลิตเป็นกระจกนิรภัยเทมเปอร์จะไม่สามารถ ตัด เจาะ เจีย บาก ได้ ดังนั้นการวัดพื้นที่ จำเป็นต้องวัดอย่างระมัดระวัง และควรใช้เป็นหน่วยมิลลิเมตรในการวัดเพื่อความแม่นยำ
  • ไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยวๆ เป็นหลังคา หรือ เป็นผนังภายนอกอาคารบริเวณชั้นสูงๆ เพราะหากกระจกแตก จะร่วงลงมาเป็นอันตรายต่อคนข้างล่างได้
  •  ไม่ควรใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์เดี่ยวๆ เป็นพื้น หรือ เป็นขั้นบันได เพราะหากกระจกแตก ผู้เดินจะได้รับอันตรายพลัดตกลงมาได้
  • ห้ามใช้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ทดแทนกระจกกันไฟ เพราะกระจกนิรภัยเทมเปอร์ไม่สามารถกันไฟเพื่อความปลอดภัยต่อผู้อาศัยตามข้อกำหนดของการกันไฟได้

การนำไปใช้งาน

  • ใช้เป็นประตูบานเปลือย ,ฉากกั้นอาบน้ำ ,ผนังกั้นภายใน ,ผนังกระจกทั้งสองหน้า 
  • ใช้ทำเป็นตู้โทรศัพท์ ,ห้องโชว์ ,ตู้สินค้าอัญมณีที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ทนต่อแรง กระแทก ให้ความปลอดภัยสูง
  • ใช้ทำเป็นกระจกงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น ชั้นวางของ ชั้นโชว์สินค้า
  • ใช้ทำเป็นหน้าต่างกระจก ผนังกระจกทั่วไป หรือ ผนังกระจกของอาคารในบริเวณที่เผชิญกับความร้อนสูงกว่าปกติ
  • ใช้ทำประตูบานเปลือย และผนังกระจกทั้งสองหน้าภายในตัวอาคาร
  • ใช้ทำผนังกระจกอาคารขนาดใหญ่ และอาคารสูง (Glass Curtain Wall) ในบริเวณที่ต้องรับแรงปะทะของกระแสลมที่มีความเร็วสูง
  • พื้นที่ ที่ต้องการความโปร่งแสง แต่ก็ต้องการความคงทนต่อแรงกระแทกในเวลาเดียวกัน